22 พื้นฐานการทำ SEO เรื่องง่ายๆที่ใครๆก็ทำได้ ตอนที่ 1
คำว่า “SEO” เชื่อว่าหลายๆท่านที่ทำธุรกิจทางด้านออนไลน์อยู่ น่าจะต้องรู้จักกันทุกคนนะครับ ส่วนใครที่ยังไม่รู้จักขออธิบายง่ายๆดังนี้ครับ
SEO คือ?
SEO ย่อมาจาก Search Engine Optimize(เห็นชื่อเต็มงงกว่าเดิม) จริงๆอธิบายง่ายๆ มันคือการทำให้เว็บไซท์ของเราขึ้นหน้าแรกๆบน Google นั่นเองครับ
ทำไมต้อง SEO?
เชื่อว่าทุกๆคนที่ทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ จะต้องมีความต้องการ ที่จะทำให้เว็บของเราค้นเจอได้ง่ายๆใช่ไหมละครับ เพราะยิ่งเจอง่ายเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่คนจะเห็นคุณมากขึ้น แล้วยิ่งคนเจอคุณมากขึ้นก็จะทำให้คุณมีโอกาสเพิ่มลูกค้าได้มากขึ้นยังไงละ เพราะฉะนั้น SEO นับว่าเป็นหัวใจหลักของการทำร้านบนโลกออนไลน์เลยละครับ
ทุกคนล้วนแล้วแต่อยากขึ้นหน้าแรกกันทั้งนั้น
งั้นเรามาดู 25 ข้อพื้นฐานว่าเจ้า SEO ดูที่อะไรบ้าง
1.ความเกี่ยวข้องของเนื้อหา
Search engines(การค้นหา) จะพยายามหาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราหามากที่สุด ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น คุณพิมพ์คำว่า “ศรรามอายุเท่าไหร่” ตัว Google ก็จะแสดงอายุของศรรามขึ้นมาในทันที โดยที่ไม่ต้องเข้าไปในหน้าเว็บไซต์ให้ยุ่งยาก หรือคำถามอย่างเช่น “ร้านอาหารอร่อย พญาไท” Google ก็จะทำการแสดงร้านอาหารภายในละแวกพญาไทในทันที
ละแวกร้านอาหารอร่อยที่ขึ้นมาในทันทีเมื่อเราพิมพ์หาใน Google
เพราะฉะนั้นแล้วเราอาจจะลองเปลี่ยนตัวKeyword(คำ) ให้มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ลูกค้าน่าจะค้นหามากที่สุดดู ก็จะช่วยให้มีโอกาสที่คนจะค้นหาเราเจอได้ง่ายขึ้นเช่นกันครับ
2.คุณภาพของบทความ
บทความของคุณบนเว็บตอนนี้มีคุณภาพดีพอไหม? บทความของคุณสามารถช่วยเหลือคนที่ประสบปัญหาได้หรือไม่? ใช่แล้วการที่เรามีบทความดีๆ ก็มีส่วนช่วยให้เว็บไซต์มีคนเข้ามาเช่นกัน แล้วยิ่งมีคนเข้ามาในเว็บของเรามากๆก็จะทำให้อันดับใน Google ของเราดีขึ้นนั่นเอง
3.User experience(ความพอใจของผู้ใช้กับตัวระบบ)
ถ้าให้อธิบายง่ายๆ User experience เปรียบเสมือน”ความคาดหวังของผู้ใช้งาน”ว่าระบบน่าจะเป็นไปตามที่เขาคิด ยกตัวอย่าง เช่น เวลาที่เราเจอปุ่ม กากบาทตรงมุมบนของจอ เราจะต้องคิดว่าเป็นการปิดเสมอ เป็นต้น หากยังไม่เข้าใจว่าผมหมายถึงอะไร สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.designil.com/7-ux-interaction-design.html เราควรทำให้เว็บมีความง่ายในการใช้งาน และสามารถค้นหาบทความหรือ Link อื่นๆที่อยู่ในเว็บเราได้จริง ทำให้คนอยากอยู่เว็บเรานานๆและมีความต้องการที่จะใช้งานเว็บของเราให้มากขึ้นเรื่อยๆ
4.ความเร็วในการโหลดเว็บไซต์
ความเร็วในการโหลดเว็บไซต์เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ หากเว็บของเราโหลดช้าจะทำให้คนเข้าใช้งานได้ยาก และอันดับใน Google ก็จะตกตามลงไปด้วย ผมขอแนะนำเว็บไซต์ที่ใช้ในการทดสอบความเร็ว PageSpeed Insights เป็นเครื่องมือที่เราสามารถใช้ทดสอบความเร็วของเว็บไซต์ส่งตรงจาก Google แถมยังบอกเราอีกด้วยว่ามีส่วนไหนที่ทำให้เว็บช้าและควรปรับปรุง ไม่เพียงแต่เรื่องของความเร็วเท่านั้น มันยังสามารถวัดค่า User experience(ความพอใจของผู้ใช้กับตัวระบบ) ได้อีกด้วย(เว็บนี้ดีสุดๆจริงๆ)
5.Responsive design(ทำให้เว็บของเรารองรับทุกเครื่อง)
ยุคนี้เรียกว่ามีสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยนั่นก็คือ Responsive design เพราะในยุคนี้เองผู้คนต่างใช้มือถือในการเข้าสู่เว็บไซต์เป็นอย่างมาก นอกจากสิ่งนี้จะทำให้ลูกค้าของเรานั้นสะดวกสบายแล้ว ยังช่วยให้อันดับใน Google ดีขึ้นอีกด้วย
6.การทำลิ้งค์ให้เชื่อมกับในเว็บของเรา
การทำลิ้งค์เชื่อมระหว่างบทความ เช่นว่าคุณเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่อง “อาหารที่แนะนำเหมาะกับคนกำลังลดความอ้วน” แล้วหนึ่งในเมนูพวกนั้นก็มี “สลัดสาหร่ายพวงองุ่น” ซึ่งเราอาจเคยเขียน “วิธีทำสลัดสาหร่ายพวงองุ่น” ไว้ในเว็บของเราอยู่แล้ว ถ้างั้นทำไมเราไม่ลิ้งค์กลับไปหาบทความเก่าให้คนอ่านกลับไปอ่านซะเลยหละ นอกจากจะทำให้ลดตัวเนื้อหาบทความให้ดูกระชับขึ้นแล้ว ยังมีประโยชน์ในอีกหลายๆด้าน 3 ข้อใหญ่ๆได้แก่
–ลดโอกาสที่คนจะออกจากเว็บของเรา แน่นอนถ้าคนอ่านเจอเมนูลดความอ้วนที่คุณแนะนำอยู่ แต่ทว่าเขาไม่รู้ว่ามันทำยังไง สุดท้ายแล้วคนอ่านก็จะออกจากเว็บของคุณ แล้วไปหาวิธีทำสลัดสาหร่ายพวงองุ่นแยกอีกที(ทั้งๆที่จริงๆแล้วเว็บของเราเคยเขียนวิธีทำไว้แล้วด้วยซํ้า)
–เพิ่มโอกาสให้อันดับดีขึ้นในคำนั้นๆ
–ช่วยให้ Google รู้สึกว่าเว็บของเราดูมีประโยชน์และน่าเชื่อถือจริงๆ
7.Authority
Authority Website คือเว็บที่ Google มองว่าน่าเชื่อถือ เป็นเว็บที่มีผู้เยี่ยมชมเยอะ มากในทุกๆวัน ยกตัวอย่างเว็บใหญ่ๆ เช่น Sanook Pantip Thairath ซึ่งสรุปได้ว่าหากเราทำให้เว็บของเรามีผู้เข้าชมมากๆ ก็สามารถช่วยให้ SEO ดีได้เช่นกัน
8.คำอธิบาย Meta และหัวข้อ Tags
จริงๆแล้วการแก้คำอธิบาย Meta ไม่ได้มีส่วนช่วยให้อันดับดีขึ้นเท่าไหร่นักหรอกนะ(อ่าวแล้วจะบอกทำไม) แต่มันเพิ่มโอกาสที่คนจะมาเจอคุณต่างหากละ! เพราะฉะนั้นเราควรใช้เครื่องมือตรงนี้ก่อนปล่อยบทความของเราออกไป
–คำอธิบาย Metaคือ?
คำอธิบาย Meta(Meta descriptions) เป็นคำอธิบายสั้นๆที่จะอยู่ด้านล่างของURL เวลาที่เราค้นหาใน Google
กรอบสีแดงคือส่วนของ Meta descriptions
ตัวอย่างภาพแก้ไข Meta description ใน WordPress
การเขียน Meta Description แนะนำให้เขียน 156 ตัวอักษรและต้องมั่นใจด้วยว่า หัวข้อของบทความเรามีความเกี่ยวข้องกับ Meta Description ด้วย
-Title Tags
หน้าที่ของ title tags คือใช้ในการบอก search engines กับผู้เข้าชมเว็บไซต์ว่าเว็บของคุณเกี่ยวกับเรื่องอะไร? เอาไว้ทำอะไร? Keyword(ตัวหนังสือ)ที่เราพิมพ์ใน title tag จะโชว์ขึ้นมาเมื่อเรา ใส่ tag ที่ตรงกับคำที่มีคนค้นหา
ตัวอย่างของ Title Tag เมื่อมีคนค้นหาเจอ
ส่วน MakeWebEasy เมนูพวกนี้จะอยู่ในส่วนของ SEO สามารถอ่านต่อได้ที่นี่เลยครับ https://www.makewebeasy.com/blog/2015/10/title-tag/
9.Schema markup
คุณสามารถเพิ่มข้อมูลของเว็บไซต์ของคุณได้ด้วย Schema markup
เว็บไซต์ที่มีการใช้ Schema markup ยกตัวอย่างเมื่อหาอาหารอย่างนึง
ถ้าสังเกตุดูดีๆจะมีเวลาที่ใช้ในการทำอาหารเพิ่มเข้ามาด้วย
ส่วนรายละเอียดวิธีทำสามารถอ่านต่อได้ที่ http://www.seodummy.com/rich-snippets-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3-%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88/
10.ควรตั้งชื่อรูปทุกครั้ง
คุณเคยใช่ไหมที่ค้นหาภาพใน google เพื่อนำภาพนั้นมาใช้หรือดู แน่นอนว่าภาพของเว็บไซต์คุณก็เช่นกัน คุณควรที่จะตั้งชื่อรูปของคุณให้มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นแล้วค่อย upload ลงบนเว็บไซต์ เพราะมันสามารถช่วยให้ Google รู้จักภาพของเราและคนทั่วไปก็จะสามารถค้นหาเจอได้ง่ายขึ้น
11.Evergreen content(คอนเทนท์ที่มีความน่าสนใจตลอดเวลา)
หลายๆคนอาจจะงงกับคำนี้ ซึ่งจริงๆแล้ว Evergreen content คือ คอนเทนท์ที่มีความน่าสนใจอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานขนาดไหน เช่น เรื่องที่อยู่บนพื้นฐานต่างๆหรือจะเป็น how-to ก็ได้ ยกตัวอย่างหัวข้อ “เว็บไซต์คืออะไร” “วิธีสมัคร E-mail” เป็นต้น ส่วนการเขียนเรื่องอย่างงี้คงต้องใช้ฝีมือกันหน่อยละ ที่สำคัญยิ่งคอนเทนท์ของคุณมีความสดใหม่ก็จะทำให้ติดอันดับได้ดีกว่าเรื่องเก่าๆอย่างแน่นอน
มาถึงตรงนี้ผู้เขียนขอกั้กไว้ก่อน แล้วอีก 11 ข้อที่เหลือ ผมจะนำมาให้ทุกท่านอ่านในภายหลัง(บทความยาว เด่วจะหลับกันซะก่อน) หลังจากที่ทุกท่านอ่านจบแล้ว อยากจะให้ลองเช็คเว็บไซต์ของตนเองดูว่ามีข้อไหนตกหล่นบ้างไหม ผู้เขียนเชื่อว่าถ้าทำตามบทความนี้ถึงแม้ว่าจะแค่11ข้อ แต่จะต้องเห็นผลมากขึ้นพอสมควรอย่างแน่นอน แล้วเจอกันในบทความหน้านะครับ
ภาพจาก http://dan-nolan.com/title-tag-seo-best-practices/
ข้อมูลจากcmseogroup.com/Authority-Website-คืออะไร-ทำไมนักทำ-SEO-ควรรู้-293-12
https://searchenginewatch.com/2016/01/21/seo-basics-22-essentials-you-need-for-optimizing-your-site/