Website
Website

รวมเว็บโหลดรูปฟรีแบบไม่ติดลิขสิทธิ์! มีหมดทั้ง Stock Photo, Icon และ Vector คนทำเว็บไม่ควรพลาด!

เชื่อว่าปัญหาลำดับแรกๆ สำหรับคนที่อยากทำเว็บไซต์ขึ้นมาเอง หรืออยากทำกราฟิกเองโดยไม่ต้องจ้างคนอื่น ก็คือ “จะหารูปจากไหนดีล่ะ?” รูปฟรีมีให้ใช้ที่ไหนกัน

ปัญหาเรื่องการใช้รูปในโลกออนไลน์แล้วละเมิดลิขสิทธิ์มีให้เห็นกันอยู่บ่อยครั้ง เพราะส่วนใหญ่คนมักจะเอารูปไปใช้โดยที่ไม่รู้ว่ารูปนั้นมีลิขสิทธิ์อยู่ โดยการหาจาก Google แล้วก็จะเกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตามมา ส่วนคนที่รู้เรื่องการติดลิขสิทธิ์ก็ลำบากใจ เพราะไม่รู้จะไปหารูปปลอดลิขสิทธิ์ที่ไหน บางเว็บต้องจ่ายเงินเพื่อเป็นสมาชิก แต่เราเองก็ไม่ได้ใช้รูปเยอะขนาดนั้น แถมเพิ่งเริ่มต้นทำ ทุนไม่ได้หนามาก จะเอาเงินมาลงไว้ก็กระไรอยู่ กับปัญหาอีกร้อยแปดพันเก้ามากมาย คิดไปคิดมาก็เริ่มเหนื่อย พาลจะไม่ทำเอาง่ายๆ

วันนี้เราก็เลยรวบรวมเว็บไซต์ที่รวมรูปภาพสต๊อก, เวกเตอร์ และไอคอน ที่อนุญาตให้ใช้แบบไม่ติดลิขสิทธิ์มาฝากกัน ที่สำคัญ ฟรี! ไม่ต้องจ่ายอะไรเลย เผื่อใครจะนำไปตกแต่งเว็บ หรือทำกราฟิกบนหน้าเว็บก็เอาไปใช้ได้ ส่วนข้อจำกัดหรือเงื่อนไขของแต่ละเว็บเป็นอย่างไร เราจะอธิบายเสริมไว้ให้ ลองดูกันนะครับ

รวมเว็บไซต์ดาวน์โหลดรูปฟรี แบบไม่เสียเงินสักบาท!

pixabay.com

เว็บไซต์ยอดนิยมสำหรับการค้นหาภาพแบบไม่ติดลิขสิทธิ์ ซึ่งรูปฟรีแต่ละรูปในเว็บนี้บอกได้เลยว่าสวยงามไม่แพ้บรรดาเว็บเสียเงินเลยจริงๆ ซึ่งจุดเด่นของเว็บนี้อยู่ที่ภาพถ่ายเป็นหลัก ผู้ใช้สามารถนำไปใช้ประกอบการโฆษณา, แก้ไข, ตัดต่อ หรือตกแต่งเว็บไซต์ได้เลย ส่วนเวกเตอร์ และภาพประกอบต่างๆ ก็มีให้เลือกเช่นเดียวกัน ส่วนข้อห้ามมีแค่ไม่กี่อย่างดังนี้ครับ

– ห้ามนำภาพจาก Pixabay ไปขายต่อที่อื่น
– ห้ามนำภาพไปขายในรูปแบบสินค้าที่จับต้องได้ เช่น โปสเตอร์, โปสการ์ด หรือผลิตภัณฑ์เป็นชิ้น
– ห้ามนำภาพที่มีใบหน้าบุคคลไปใช้ในทางเสื่อมเสีย
– ห้ามนำภาพไปใช้ในแนวทางที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด

Link : pixabay.com

 

flaticon.com

เห็นจากชื่อก็คงไม่ต้องบอกว่าเว็บนี้เด่นเรื่องอะไร ใช่ครับ! เว็บนี้น่าจะเป็นเว็บลูกรักของบรรดานักออกแบบ UX/UI หรือ Graphic Designer ที่ต้องการไอคอน หรือสัญลักษณ์ต่างๆ ไปปรับใช้กับรูปภาพหรือทำ Infographic สวยๆ สักชิ้น ได้สบายๆ ซึ่งเว็บนี้มีให้เลือกทั้งแบบฟรี และแบบเสียเงิน โดยมีเงื่อนไขดังนี้ครับ

ฟรี แบบไม่ลงทะเบียน (non-registered) : จำกัดโควต้าแค่ 1 คอลเลกชั่น (50 ไอคอน) และจำกัดการดาวน์โหลดเพียง 10 ไอคอน/วัน
ฟรี แบบลงทะเบียน (registered user) : จำกัดโควตา 3 คอลเลกชั่น (150 ไอคอน) และจำกัดการดาวน์โหลดที่ 100 ไอคอน/วัน
แบบเสียเงิน (Premium Plan) : ไม่จำกัดคอลเลกชั่น (256 ไอคอน/คอลเลกชั่น) และดาวน์โหลดได้ 2,000 ไอคอน/วัน

Link : flaticon.com

 

freepik.com

เว็บนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเว็บที่กราฟิกหลายคนชอบใช้กัน โดย freepik มี source แบบไม่ติดลิขสิทธิ์ให้เลือกทั้งรูปภาพ, ไอคอน, PSD และเวกเตอร์ แต่ส่วนที่เด่นที่สุดน่าจะเป็นเวกเตอร์ที่มีแบบสวยๆ ให้เลือกมากมาย ใช้อันที่มีให้โหลดฟรีก็น่าจะเพียงพอในระดับหนึ่งแล้ว ส่วนสิทธิ์ที่เปิดให้ใช้ก็เรียกว่าแทบจะใช้ได้ทุกอย่าง มีอะไรบ้างไปดูกันครับ

– นำไปใช้ส่วนบุคคล หรือเชิงพาณิชย์ได้
– นำไปใช้งานเพื่อสร้างชิ้นงานให้กับลูกค้าได้
– นำไปใช้ในสื่อโฆษณา และบทความเชิงพาณิชย์ได้ ตราบใดที่องค์ประกอบหลักไม่ใช่ภาพนั้นทั้งหมด (ง่ายๆ คือ สมมติ เอารูปกล้องมา จะไม่สามารถเอาภาพต้นฉบับที่โหลดมา ไปลง print ad แล้วบอกว่านี่คือสินค้าที่ขายจริงๆได้)
– นำไปใช้บนเว็บไซต์, สื่อนำเสนอ, แอปพลิเคชัน หรือองค์ประกอบของงานดีไซน์ได้
– นำไปใช้กับแบรนด์ และโลโก้ หรือเป็นส่วนประกอบได้ แต่ต้องมีการปรับแต่ง หรือดัดแปลง ให้เป็นชิ้นงานใหม่ในแบบที่แตกต่างกันมากพอ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดจากงานต้นฉบับ

Link : freepik.com

 

pexels.com

หากใครกำลังมองหาภาพแนว street แนวฮิปสเตอร์ หรือภาพคูลๆ ไว้ตกแต่งเว็บไซต์ รับรองว่ามาเว็บนี้ถูกใจแน่นอน เพราะภาพถ่ายส่วนใหญ่ในนี้ค่อนข้างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก และถ้าเลือกภาพถูกทาง จะสื่อสาร key messege ได้อย่างตรงจุดเลยทีเดียว ถ้าไม่เชื่อลองเข้าไปดูด้วยตัวเองนะครับ ส่วนเงื่อนไขไม่มีข้อห้ามอะไรเลย สามารถใช้ได้ตามสะดวกครับ

Link : pexels.com

 

unsplash.com

อีกหนึ่งเว็บโหลดรูปฟรีที่อัดแน่นไปด้วยคุณภาพ จนอดนึกถามในใจไม่ได้ว่า อันนี้ให้โหลดฟรีจริงๆ ใช่มั้ย? ซึ่งฟรีจริงๆ ครับ ส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายที่สวยงาม และมีเอกลักษณ์ บางรูปแทบไม่ต้องแต่งอะไรต่อก็สามารถนำไปใช้เป็น print ads หรือทำภาพโฆษณาได้ทันที หรือถ้าจะเอาไปตกแต่งเว็บไซต์ก็สวยงามไม่แพ้กัน ส่วนเงื่อนไขไม่มีข้อห้ามอะไรเช่นกันครับ

Link : unsplash.com

 

หวังว่าเว็บโหลดรูปฟรีเหล่านี้จะช่วยให้การเริ่มต้นทำเว็บไซต์ง่ายขึ้นสำหรับมือใหม่นะครับ ส่วนใครที่กำลังมองหาแหล่งดาวน์โหลดภาพใหม่ๆ เพื่อไปทำคอนเทนต์ หรือจะทำกราฟิกใหม่ ก็ลองเข้าไปเลือกสรรกันดูได้นะครับ 🙂 ส่วนใครที่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นออกแบบ หรือทำเว็บยังไง ดีไซน์แบบไหน ลองอ่าน 2 บทความนี้เพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นกันได้ครับ

– 6 เทคนิค ออกแบบเว็บไซต์ ให้ถูกใจลูกค้า
– อิทธิพลของสีต่อการค้าขาย เลือกอย่างไรให้เหมาะกับเว็บไซต์?