เศรษฐกิจไม่ดี หรือ พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน?
จากกรณีที่ตลาดสำเพ็ง มีข่าวออกมาว่าตอนนี้การค้าขายเงียบที่สุดใน 50 ปี!
หากพูดถึง ตลาดสำเพ็ง ทุกคนคงนึกถึงตลาดขายส่งขนาดใหญ่ในตำนานที่มีของขายแทบทุกอย่าง ชนิดที่เรียกว่า อยากได้อะไร อยากหาอะไรไปเดินสำเพ็งรับรองว่ามี ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมาสำเพ็งไม่เคยจะเงียบเหงาเพราะมีคนมาจับจ่ายซื้อของทุกวันทุกเวลา ไม่เว้นแม้แต่เวลากลางคืน
สำเพ็งเคยคนเยอะขนาดไหน? ต้องบอกว่าใช้คำว่าเดินไม่น่าได้ มันคือการค่อยๆ ปล่อยตัวเองไหลไปตามกระแสคลื่นมนุษย์ ถ้ามีคนข้างหน้าหยุดดูของที่ร้านไหนก็เหมือนก้อนหินที่ขวางทางน้ำ เราก็ต้องเบี่ยงตัวเองให้ไหลเฉียดๆ ไปอีกทาง ซึ่งจำนวนคนขนาดนี้สามารถการันตีการเป็นแหล่งค้าส่งชั้นดีได้อย่างชัดเจน
แล้วเกิดอะไรขึ้นกับสำเพ็งในตอนนี้?
เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาผมเห็นข่าวคราวของ สำเพ็ง ที่ผู้ขายบางส่วนออกมาโพสต์ภาพว่าสำเพ็งเงียบเหงาลงไปกว่าเดิมเยอะมาก พื้นที่ที่เคยคลาคล่ำไปด้วยคลื่นมนุษย์กลับกลายเป็นพื้นที่ว่างที่สามารถตั้งวงนั่งกินข้าวกลางทางเดินกันได้ บรรดาลุงๆ ป้าๆ ที่ขายของในนั้นนั่งเฝ้ารอลูกค้าจนเผลอหลับไปบ้างก็มี ภาพพวกนี้ไม่เคยปรากฏในความทรงจำของคนที่เคยไปสำเพ็งอย่างแน่นอน รวมถึงผมด้วยเช่นกัน ซึ่งปรากฏารณ์นี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสำเพ็งกำลังเจอปัญหาใหญ่ แล้วปัญหาที่ว่าคืออะไรกันล่ะ?
ปัญหาลูกโซ่ที่ส่งผลกระทบเป็น Butterfly Effect
ช่องทาง (Channel)
ปัญหาที่ว่าก็คือ แพลตฟอร์มที่เป็นออฟไลน์ของสำเพ็งตอนนี้ไม่สามารถตอบโจทย์ “ความสะดวก” ของลูกค้าในปัจจุบันได้ครับ อันนี้เป็นปัญหาใหญ่อย่างแรกเลย เพราะว่า ผู้ซื้อตอนนี้เขาหันไปซื้อของออนไลน์กันหมด ในมุมของผู้ซื้อ เขาไม่ต้องเหนื่อยเดินทางไปตลาด ไม่ต้องไปเดินแบบร้อนๆ ไม่ต้องไปเดินเช็คของ เช็คราคาตามร้านเป็นสิบๆ ร้าน แถมยังไม่มีที่จอดรถ ไปรถไฟฟ้าก็ต้องต่อรถ วุ่นวายไปหมด ทำให้ช่องทางของ สำเพ็ง เป็นสิ่งที่ลำบากเกินไป เขาจะไปทำไม ในเมื่อมีที่ที่ขายของเหมือนกัน แต่สะดวกสำหรับเขามากกว่า เขาก็เลือกที่ที่สะดวกกว่าครับ
พฤติกรรมผู้ซื้อ (Consumer Behaviors)
เมื่อแพลตฟอร์มต่างๆ อำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ พฤติกรรมผู้ซื้อเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงครับ ตอนนี้เวลาคนอยากได้อะไรจะเข้า Google หาข้อมูล แล้วถ้าได้ข้อมูลจนพอใจแล้ว การหาของไม่ใช่เรื่องยากเลยครับ แค่หาบนเว็บขายของออนไลน์ที่มีเป็นร้อยเป็นพันเว็บในตอนนี้ แล้วเจอร้านที่ถูกใจ มีของ ราคาโอเค ดูน่าเชื่อถือ เขาติดต่อกับผู้ขายได้ มีตัวตนจริง แค่นี้เขาก็พร้อมสั่งแล้วครับ
พอมาถึงเรื่องจ่ายเงิน เดี๋ยวนี้เขาก็มีการจ่ายด้วยบัตรเครดิตก็ได้ เงินสดก็ได้ คือปัจจัยทุกอย่างพร้อมกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายอย่างสะดวกมากถึงมากที่สุด แล้วทุกกระบวนการที่พูดมา มันเกิดขึ้นบนคอมพิวเตอร์ หรือมือถือ โดยใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที ด้วยซ้ำ “ความง่าย” และ “ความสะดวก” คือพฤติกรรมที่ผู้ซื้อในปัจจุบันนี้เลือกกันครับ
คู่แข่ง (Competitors)
ตรงนี้คือปัญหาที่น่าสนใจครับ สำเพ็งอาจไม่ใช่แหล่งขายส่งที่กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าบางช่วงวัยต้องการอีกต่อไป เพราะสำเพ็งจะขายได้กับกลุ่มคนอายุ 30+ หรือคนรุ่นเก่าๆ ที่รับรู้ว่า ถ้าจะรับของมาขายต้องไปเอาที่สำเพ็ง แต่ถ้าเป็นพวกคนรุ่นใหม่หรือวัยรุ่นในปัจจุบัน เขาหันไปหา Taobao (อ่านว่า เถาเป่า) กันแล้วครับ
Taobao เป็นแหล่งขายของคล้ายๆ สำเพ็งนี่แหละครับ แต่เป็นของจีน แล้วที่สำคัญคือเขาทำระบบบนเว็บไซต์ มีการผลิตสินค้าจากจีนเข้ามาป้อนตลาด บรรดาพ่อค้าแม่ค้ารุ่นใหม่ก็สามารถสั่งของมาสต๊อกไว้ได้ตามที่ต้องการ ราคาบวกค่า shipping ก็ไม่ได้สูงจนเกินรับได้ แถมคุณภาพสินค้าก็ใกล้เคียงกัน
ถ้าวัดจำนวนเงินกันแล้ว การสั่งของจาก Taobao อาจจ่ายแพงกว่าการไปเดินสำเพ็งครับ แต่เราต้องเข้าใจก่อนว่าพฤติกรรมของคนในยุคนี้ “พวกเขายอมจ่าย เพื่อแลกกับความสะดวก” ครับ มันเป็นแบบนี้จริงๆ
นอกจากสำเพ็งจะมี Taobao เป็นคู่แข่งในด้านการป้อนสินค้าขายส่งเข้าตลาดแล้ว สำเพ็งยังต้องเจอกับ Marketplace รายใหญ่อย่าง Lazada หรือ Shopee ที่ครองตลาดบ้านเราอยู่ในขณะนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้สำเพ็งเคยยืนหยัดเป็นที่ 1 ในเรื่องของ “ขายส่งได้ถูกที่สุด” มาโดยตลอด แต่ตอนนี้ position ได้เปลี่ยนไปแล้ว
ตอนนี้ Lazada กับ Shopee มีโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม ลดแหลกแจกกระจาย มี Promotion Code แทบทุกร้าน ทุกวัน แถมวันดีคืนดียังมีโปร Flash Sale กระตุ้นยอดขายให้เพิ่มสูงขึ้นสำหรับร้านที่เข้าร่วมอีก ถามว่าโปรพวกนี้มันแตกต่างจากโปรที่เราเคยเห็นในร้านออฟไลน์มั้ย? ก็ไม่ใช่ เพราะอย่าง Flash Sale ก็คือโปรนาทีทองตามร้านในยุคเก่านี่แหละ เพียงแต่ ช่องทางมันถูกเปลี่ยนมาอยู่บนออนไลน์ ลูกค้าสามารถเข้าร่วมได้แม้จะอยู่บ้าน ไม่ต้องตรากตรำออกมาข้างนอกให้เสียเวลา ทำให้สำเพ็งเสียตำแหน่งตรงนี้ไป
เศรษฐกิจ (Economy)
ตรงนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเหมือนกันครับ ไม่ใช่ว่าแค่สำเพ็งที่ได้รับผลกระทบ แต่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์บางเจ้าก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะกลุ่มลูกค้ามีกำลังซื้อน้อยลงจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ต้องเก็บเงินไว้ใช้จ่ายอย่างอื่นที่จำเป็นมากกว่า หรืออะไรก็ตามแต่ ไม่ใช่ว่าการย้ายมาออนไลน์แล้วจะดังเปรี้ยงปร้างทุกเจ้า ต่อให้ดังแค่ไหน แต่ถ้าคนไม่สามารถซื้อได้เหมือนที่เคยเป็นมาก็เกิดปัญหาได้เหมือนกันครับ
สรุป
ปัจจัยทั้งหมดที่ว่ามาเป็นเพียงมุมมองเบื้องต้นของผมต่อกรณีของสำเพ็งเท่านั้นนะครับ ถ้ามองให้ลึกลงไปกว่านี้ยังมีส่วนประกอบอีกหลายอย่างที่ก่อให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นมา และต้องหาวิธีแก้ให้ถูกจุดด้วย ผมลองยกตัวอย่างนะครับ
ถ้าสมมติ ตลาดสำเพ็งแปรสภาพเป็น Marketplace ออนไลน์ในชื่อ sampeng.com แล้วขายสินค้าราคาส่งเหมือนเดิม ประเด็นที่ต้องดูถัดมาคือ…
คุณภาพสินค้าสู้ Taobao ซึ่งเป็นของจีนได้หรือไม่? ถ้าสู้ไม่ได้ คนไปหา Taobao แบบเดิม แต่ถ้าคุณภาพสู้ได้ก็ต้องมาดูกันในเรื่องราคา…
การสั่งจาก sampeng.com มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าหรือน้อยกว่า Taobao? มาคำนวณต้นทุนแล้วสั่งจากไหนได้กำไรมากกว่า? ถ้าเลือกแหล่งได้แล้ว ก็อาจจะต้องดูเรื่องความหลากหลายของสินค้าอีก อย่างนี้เป็นต้น
ประเด็นของสำเพ็งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นปัญหา และมุมมองอะไรได้หลายอย่างมากทีเดียวนะครับ ซึ่งความสำคัญของแต่ละประเด็นจะมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของคนด้วย เพราะทางไปต่อของแต่ละธุรกิจไม่เหมือนกัน แม้จะย้ายมาทำช่องทางออนไลน์ก็ต้องทำให้ถูกวิธีถึงจะทำให้ไปต่อได้ แต่ถ้าทำผิดวิธีก็อาจจะสูญเงินไปเปล่าๆ เลยก็มีให้เห็นมาแล้วครับ เพราะบนออนไลน์คุณจะมีคู่แข่งเยอะกว่าฝั่งออฟไลน์แบบมากๆ
ดังนั้น ผู้ประกอบการเองควรหาช่องทางที่เหมาะสมสำหรับขับเคลื่อนธุรกิจให้ไปต่อได้ แล้วพยายามทำความเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น ใช้เครื่องมือช่วยที่เหมาะสมก็น่าจะประคับประคองให้ไปต่อได้ แล้วถ้าจับทางได้เมื่อไหร่ก็น่าจะรอดไปอีกสักระยะครับ สุดท้ายอยากฝากไว้ว่า ก่อนจะทำอะไรก็ขอให้วางแผนคิดอย่างรอบคอบ และคาดการณ์เผื่อไว้ล่วงหน้าด้วย เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเข้ามาตอนไหนก็ได้ด้วยนะครับ