ทำคอนเทนต์แทบตาย ทำไมไม่มีใครสนใจ หรือเรากำลังหลงทางอยู่?
การ ทำคอนเทนต์ ในยุคดิจิทัลแบบทุกวันนี้ ดูเผินๆ เหมือนจะทำง่าย เพราะใครๆ ก็ทำได้ แถมช่องทางในการเผยแพร่ก็มีให้เลือกใช้กันแบบไม่หวาดไม่ไหว แต่ทำไมยิ่งคิดยิ่งทำขนาดไหน ก็ยังไม่มีใครสนใจซักที?
คนทำธุรกิจบางคน ต้องการ ทำคอนเทนต์ เชิงการตลาดเพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายให้เกิดความต้องการซื้อ หรือสนใจในแบรนด์ของตัวเอง แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับแผนการทำคอนเทนต์อย่างจริงจัง บางครั้งสิ่งที่ทำอยู่ก็เป็นแค่การลงบทความตามตารางเวลาที่ต้องลงเท่านั้น ทำให้บทความหลายๆ ชิ้นไม่มี Value ไม่มีความแตกต่าง และที่สำคัญยังไม่สะท้อนตัวตนของแบรนด์อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่ทำให้การ ทำคอนเทนต์ เกิดข้อผิดพลาดได้มากมาย และไปไม่ถึงฝั่งฝัน ซึ่งเราได้คัดสรรข้อผิดพลาดที่คิดว่าน่าสนใจมาให้คนทำคอนเทนต์ได้อ่าน เพื่อที่จะได้เกิดการเรียนรู้ และปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่เคยทำผิดพลาดมาก่อนเช่นกัน เพราะฉะนั้น เรามาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันเลยครับ
ไม่สังเกต ไม่พลิกแพลง ไม่ตั้งคำถาม
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่คนทำคอนเทนต์ในยุคปัจจุบันไม่ค่อยทำกันเท่าไหร่ก็คือ การดูผลงานคนอื่นเยอะๆ และเสพงานหลายๆ แนว แล้วสังเกตว่าพวก Publisher เจ้าดังๆ เขานิยมทำคอนเทนต์แนวไหน แล้วแบบไหนได้กระแสตอบรับดีที่สุด เพราะยุคดิจิทัลแบบนี้เราหาข้อมูลได้จากทุกที่ มีตัวอย่างให้เลือกศึกษามากมายอยู่แล้วบนโลกออนไลน์ แต่ผมไม่ได้บอกว่าให้ก๊อปรูปแบบมาทั้งหมดนะ มันไม่โอเคหรอกเวลามีคนก๊อปงาน แต่ให้เราดูแล้วเอามาประยุกต์ใช้ในแบบของเราเองจะดีกว่า
ถ้ายังเริ่มไม่ถูก ผมแนะนำว่าในช่วงแรกอาจจะเริ่มจากเนื้อหา หรือประเด็นที่เราสนใจก่อนก็ได้ แล้วลองสำรวจตัวเองทุกครั้งว่า เราเลือกอ่านสิ่งๆ นี้เพราะอะไร? พยายามตั้งคำถามกับความสนใจของตัวเองเยอะๆ เช่น ทำไมเราเลื่อนผ่านคอนเทนต์อันนี้ ทั้งที่มันอยู่ในประเด็นความสนใจเราเหมือนกัน ไม่ชอบวิธีเขียน? ไม่ชอบแนววิดีโอ? หรือคิดว่ามันไม่ตอบโจทย์ แล้วทำไมไม่ตอบโจทย์ ฯลฯ ถ้าคุณรู้จักวิธีคิดแบบตั้งคำถามไปได้ซักพัก คุณสามารถนำวิธีคิดแบบนั้นมาปรับใช้กับการทำคอนเทนต์ Product หรือ Service ได้ทันที ลองฝึกไปเรื่อยๆ แล้วคุณจะจับจุดได้ว่า กลุ่มเป้าหมายของคุณเขาต้องการเสพอะไร
ทำคอนเทนต์ ไม่ตอบโจทย์ (สำคัญสุด!)
สืบเนื่องมาจากข้อที่แล้วที่ผมบอกว่าให้พยายามตั้งคำถามเยอะๆ เพราะบางทีคำถามที่คุณคิดอยู่ อาจเป็นคำถามเดียวกับที่กลุ่มเป้าหมายของคุณคิด และต้องการคนที่หาคำตอบมาให้ด้วยเช่นกัน — ตรงนี้แหละ! เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องหาคำตอบในเรื่องที่พวกเขาอยากรู้ และสนใจมาให้ ต้องเป็นคำตอบชนิดที่อ่านของเราที่เดียวจบ และต้องเข้าใจด้วยนะ
สาเหตุที่ข้อนี้สำคัญมาก (สำหรับผม) เพราะว่า ต่อให้เราคิดวิเคราะห์ เนื้อหาของคอนเทนต์มาแล้วว่าต้องเป็นแนวนี้ ทั้งแพลตฟอร์มที่จะลง หรือรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมาย แต่สุดท้ายคอนเทนต์ชิ้นนี้มันไม่ตอบคำถาม หรือความสนใจของคนอ่านคนดู มันก็ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น หน้าที่ของเราคือ คิด และค้นหามาเยอะๆ ว่า คนเสพคอนเทนต์อยากเสพอะไร เรื่องไหน ในรูปแบบไหน แล้วมาวางแผนทำให้ละเอียดอีกที ทำไปซักระยะคุณจะจับจุดได้ว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณต้องการอะไรกันแน่
ไม่มี Value ในงานชิ้นนั้น
แน่นอนว่าเป้าหมายหลักของคนเขียนบทความ หรือทำคอนเทนต์ลงบนเว็บไซต์ก็คือการติดอันดับ SEO ดีๆ แต่ถ้าจะตั้งเป้าแค่การทำให้ติด SEO เพียงอย่างเดียว ขณะที่งานชิ้นนั้นไม่ได้ให้อะไรกับคนอ่านเลย รับรองว่าคนส่วนใหญ่ก็เข้าเว็บคุณครั้งนี้ครั้งเดียวเท่านั้นแหละ
อ่านบทความ “พื้นฐาน SEO ที่ดี เริ่มต้นที่ Keyword” ได้ที่นี่
“คอนเทนต์คุณภาพ” ยังคงเป็นสิ่งที่ Google ต้องการสำหรับจัดอันดับ SEO แต่เหนือสิ่งอื่นใดคนที่ต้องการคอนเทนต์คุณภาพจริงๆ คือ “ผู้อ่าน ผู้ชม ผู้ดู” อย่าลืมว่าทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความ หรือมาชมอะไรที่คุณสร้างขึ้นมา เขาเหล่านั้นต้องการจะได้ “อะไรบางอย่าง” กลับไปเสมอ เช่น
– ถ้าเป็นคลิปตลก สิ่งที่ได้คือความสุข สนุก หัวเราะ
– ถ้าเป็นบทความเศรษฐกิจ สิ่งที่ได้คือบทวิเคราะห์หรือข่าวสารสำหรับนักลงทุน
– ถ้าเป็นบทความทั่วไป สิ่งที่ได้คือเขาได้ความรู้อะไรสักอย่างมากขึ้น
คอนเทนต์รูปแบบอื่นๆ ก็เป็นเช่นเดียวกัน ถ้าคุณอยากทำให้คนติดตามคุณเพิ่มมากขึ้น คุณต้องให้อะไรบางอย่างที่พวกเขาหาไม่ได้จากที่อื่น และเมื่อคุณทำได้ นั่นแหละ คือคอนเทนต์ที่มี Value สำหรับคุณเอง
ไม่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายให้ลึกพอ
สิ่งที่ทำให้คน ทำคอนเทนต์ พลาดมากที่สุดคือ “การตั้งกลุ่มเป้าหมาย” ที่ไม่เฉพาะเจาะจงลงไปถึงระดับบุคคล แต่ถ้าหากมีการคิดมาแล้วว่ากลุ่มเป้าหมายของเราคือคนกลุ่มนี้ บริบทของคอนเทนต์ที่สื่อออกมาก็อาจจะชี้ไปถึงคนกลุ่มใหญ่อยู่ดี ไม่ได้ลงถึงระดับบุคคล
กุญแจสำคัญในการเขียนให้เข้าถึงผู้อ่านมากที่สุด คือให้เรานึกภาพการเขียนเหมือนการพูดคุยกับคนตรงหน้าเราสักคน ที่น่าจะมีความคิดความอ่านแบบนี้ (ที่เรากำหนดมา) แล้วเขาน่าจะอยากอ่านอะไรแนวๆ นี้ ด้วยคำพูดประมาณนี้ ยิ่งคุณหาเอกลักษณ์ หรือคาแรกเตอร์เฉพาะของกลุ่มเป้าหมายคุณได้ชัดเจนเท่าไหร่ คุณจะยิ่งเขียนมันออกมาได้ลื่นไหล และตรงจุดมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
โพสต์แต่โปรโมชั่นบนโซเชียล
แพลตฟอร์มสำคัญที่สามารถเผยแพร่คอนเทนต์ของเราได้ดีที่สุดก็คือ โซเชียลมีเดีย เพราะโซเชียลนี่แหละเป็นตัวกลางที่ส่งผลงานของเราให้เข้าถึงผู้อ่านได้ แต่ถ้าคุณใช้มันผิดวิธี รับรองได้ว่าไม่มีใครกดติดตามคุณแน่นอน
ก่อนอื่นต้องเข้าใจบริบทของโซเชียลก่อนว่า ผู้ใช้โซเชียลเกือบทุกแพลตฟอร์มมีพฤติกรรมในการใช้งานเพื่อเสพคอนเทนต์เป็นหลัก นั่นหมายความว่า พวกเขาเลือกเสพสิ่งที่เขาสนใจ และถ้าเขาสนใจมากพอ เขาจะติดตาม Publisher ที่ผลิตคอนเทนต์นั้นๆ แต่ถ้าหากคุณโพสต์แต่ “โปรโมชั่น” เพียวๆ บนหน้าเฟซบุ๊กเพจ, ไอจี หรือที่ไหนก็ตาม มันไม่ดึงดูดคนให้ติดตามแน่ๆ ในทางกลับกัน กลายเป็นว่าผู้ที่เข้ามาชมก็จะเกิดความรู้สึกในแง่ลบ เพราะพวกเขาอยากได้ข้อมูล, ความรู้, เทคนิค หรืออะไรสักอย่างจากแบรนด์ ไม่ใช่การเสนอขายโครมๆ เพียงอย่างเดียว ดังนั้น ควรสร้างความน่าสนใจ ทำให้คนติดตาม และเชื่อมั่นในตัวเราเองผ่านคอนเทนต์ก่อน จากนั้นพวกเขาเหล่านั้นก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกใช้สินค้า หรือบริการของเราได้ในอนาคต
ไม่กล้าลองอะไรใหม่ๆ
หลักการทำ Content Marketing ที่สำคัญมากๆ คือ การทดลอง เราต้องลองสร้างสิ่งใหม่ๆ หรือคอนเทนต์รูปแบบใหม่ขึ้นมา เพื่อวัดผลว่า คอนเทนต์แบบไหนให้ผลดีกับแบรนด์เราที่สุด ถ้าแบบไหนไม่ดีจะได้ตัดออก หรือหาทางปรับปรุงให้เป็นแบบที่ดี และโดนใจกลุ่มเป้าหมายให้ได้ การลองจึงเป็นสำคัญมาก ถ้าทำแล้วผิดเป้าหมาย หรือฟีดแบ็กไม่ดี ไม่ใช่เรื่องแย่ เพราะสิ่งที่แลกกลับมาคือการที่เราได้รู้ว่า ทำแบบไหนถึงจะดี อีกอย่าง ถ้าลองแล้วควรลองให้ครบทุกทาง จะได้รู้มากขึ้นว่าช่องทางไหนควรทำคอนเทนต์แบบไหน ประเด็นไหน ถึงจะดีที่สุด แต่เตือนไว้ก่อนว่า ถ้าจะใช้เงินช่วยเรื่อง Ads ก็เจียดงบตอนลองไว้น้อยๆ ก่อนนะครับ จะได้ไม่เสียหายหนัก ไม่งั้นทุ่มลงไปเป็นก้อนแล้วหายเรียบเดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือนนะ
ไม่เคยคิดต่อยอดสิ่งที่มีอยู่แล้ว
มีผลสำรวจออกมาว่าคอนเทนต์แนวๆ B2B กว่า 70% สื่อสารออกไปไม่ตรงจุดอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้คอนเทนต์ที่สร้างขึ้นมาด้วยแรง และเวลาเหล่านั้นทำหน้าที่ของมันได้ไม่ดีพอ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะว่า คนทำคอนเทนต์ไม่ได้คิดในเชิงต่อยอดสิ่งที่มีอยู่แล้ว
จริงอยู่ที่การทำคอนเทนต์ในทุกวันนี้ เราต้องการความแตกต่าง และความแปลกใหม่ แต่สำหรับบางธุรกิจการสร้างความต่าง หรือความแปลก เป็นสิ่งที่ต้องใช้แรง และเวลามหาศาล และยังไม่รู้หมู่รู้จ่าว่าทำไปแล้วจะออกมาดีจริงๆ ใช่มั้ย แล้วถ้าเราลองคิดกลับกัน เราลองมองหาประเด็น รูปแบบคอนเทนต์ หรือคอนเซ็ปต์ที่เคยทำแล้วดีที่สุดมาสักหนึ่งอย่าง แล้วต่อยอด หรือแตกประเด็นเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ ออกมาให้ได้หลายแขนง แล้วเราจะพบว่ามีไอเดียอีกมากมายที่เราไม่เคยคิดได้แบบนี้ ถ้าการสร้างสิ่งใหม่มันใช้พลังเยอะเกินไป ลองเอาสิ่งที่มีอยู่มาทำให้มันดีขึ้นก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจเหมือนกัน
ท่ามกลางคอนเทนต์มหาศาลดังเช่นทุกวันนี้ การทำให้แบรนด์แตกต่าง และเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ เพราะการสร้างคาแรคเตอร์ให้กับแบรนด์จะทำให้ผู้ใช้จดจำเราในภาพที่เราสร้างขึ้นมาได้ ถ้าเราไม่สร้างความแตกต่าง หรือไม่มีจุดเด่นอะไรไปสู้กับคนอื่น เราก็จะถูกมองข้ามไปโดยปริยายแม้ว่าสินค้า หรือบริการของเราจะดีมากขนาดไหนก็ตาม เพราะฉะนั้นการทำ Content Marketing นอกจากจะเป็นการดึงความสนใจแล้ว ก็สามารถทำหน้าที่การนำเสนอภาพลักษณ์ และคาแรคเตอร์ของแบรนด์ที่เราอยากให้เป็นได้ดีไม่แพ้การประชาสัมพันธ์แบรนด์ (PR) แบบหนักๆ เลยครับ และทิ้งท้ายไปกับคำกล่าวคลาสสิคที่ว่า….”Content is king.”…ก็ยังคงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย จริงมั้ยครับ?