จะทำเว็บไซต์ทั้งที ต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?
ราคาเว็บไซต์ หรือค่าใช้จ่ายในการทำเว็บไซต์ เป็นคำถามสำคัญที่คนทำธุรกิจมักจะถามกันอยู่ตลอด เมื่อคุณตัดสินใจที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจออนไลน์ ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากการขายสินค้าบน Social Media หรือ แพลตฟอร์มอื่นๆ มาก่อน เมื่อถึงเวลาที่ต้องขยับขยายกิจการ สิ่งที่ทุกธุรกิจจะขาดไปไม่ได้เลยก็คือการทำเว็บไซต์
แต่การจะมีเว็บไซต์ทั้งทีเนี่ย เราจะต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง ในบทความนี้เราจะมาแจกแจงให้คุณได้รู้กัน
ก่อนที่จะพูดถึงค่าใช้จ่าย และ ราคาเว็บไซต์ ในแบบต่างๆ คุณต้องรู้ก่อนว่า คุณจะเลือกทำเว็บไซต์ด้วยวิธีไหน โดยหลักๆ แล้ว จะมีด้วยกันอยู่ 3 ทางเลือกคือ
1. ทำเว็บไซต์ด้วยตัวเอง
หากคุณ หรือทีมงานของคุณมีความรู้ และทักษะในเรื่องของสร้างเว็บไซต์ สามารถเขียนเว็บไซต์ได้ด้วยตัวเอง วิธีก็ถือว่าเป็นวิธีที่ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากที่สุด
ข้อดีของการสร้างเว็บไซต์ด้วยตัวเองคือ มีความรู้ และความเข้าใจในเรื่องของธุรกิจ รู้ว่าธุรกิจต้องการฟังก์ชั่นอะไรบ้าง ตอบโจทย์การใช้งานของตัวเอง
ข้อเสียคืออาจใช้เวลาในการทำค่อนข้างนาน ต้องลงแรง และใส่เวลากับการทำเว็บไซต์ค่อนข้างมาก หากคุณ หรือทีมของคุณไม่มีความเชี่ยวชาญ อาจต้องเสียเวลาไปกับการลองผิดลองถูก กว่าจะได้เว็บไซต์มาใช้งาน
ค่าใช้จ่ายสำหรับทางเลือกนี้ก็จะมี
- ค่าจด Domain Name
- ค่า Hosting
- ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่มองไม่เห็นอย่างเช่น เงินเดือนของพนักงานที่จ้างมาดูแลเว็บไซต์
2. จ้างฟรีแลนซ์ทำเว็บไซต์
หากคุณไม่มีความรู้หรือทักษะในการสร้างเว็บไซต์ ฟรีแลนซ์ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คุณจะนึกถึง
ข้อดีของการจ้างฟรีแลนซ์มาทำเว็บไซต์ให้คือสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ โดยฟรีแลนซ์แต่ละคนก็จะให้ราคาที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่นจำนวนหน้าเพจ ฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ ถ้ามีรายละเอียดมากก็อาจทำให้ราคาสูงขึ้นไปด้วย
ข้อเสียของการจ้างฟรีแลนซ์นั้น คุณอาจจะต้องรับความเสี่ยงในเรื่องต่างๆ อย่างเช่น การส่งงานที่ล่าช้า คุณภาพของงานที่ไม่ตรงความต้องการ ที่สำคัญคือความรับผิดชอบ เพราะความเป็นมืออาชีพของฟรีแลนซ์แต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน
หากคุณต้องการจ้างฟรีแลนซ์ ให้ลองสอบถามวิธีการทำงาน หรือขอดูผลงานที่เคยทำมา หรือสอบถามข้อมูลจากผู้ว่าจ้างคนก่อนๆ ที่สำคัญคืออย่าลืมทำสัญญาการว่าจ้างให้ชัดเจน
ส่วน ค่าใช้จ่ายทำเว็บ สำหรับทางเลือกนี้ก็จะมี
- ค่าทำเว็บที่สามารถเลือกเองได้มีตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท (ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และฟังก์ชั่นบนเว็บไซต์)
- ค่าจด Domain Name
- Hosting
- ค่าออกแบบเว็บไซต์
- ค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ อย่างเช่น ค่าดูแลเว็บไซต์ อัพเดตข้อมูล ฯลฯ
3. เลือกใช้เว็บไซต์สำเร็จรูป
อีกหนึ่งทางเลือกของการทำเว็บไซต์ เป็นวิธีที่ง่าย คนที่ไม่มีความรู้เรื่องการสร้างเว็บไซต์ก็สามารถทำได้
ข้อดีของการใช้เว็บไซต์สำเร็จรูปคือ ความง่ายนี่แหละ ตั้งแต่ขั้นตอนการสมัคร จนถึงพร้อมใช้งาน ทุกอย่างถูกออกแบบมาให้รองรับผู้ใช้งานที่หลากหลาย ใส่ข้อมูลง่ายๆ เพียงแค่ไม่กี่คลิกก็สามารถเริ่มต้นการใช้งานได้ทันที (สมกับว่าสำเร็จรูปจริงๆ) นอกจากนี้หากมีปัญหาด้านการใช้งาน ก็ยังมีทีมงานคอยให้คำปรึกษา ไม่โดนเทแน่นอน
ในเรื่องของการออกแบบหากคุณมีความสามารถ หรือทักษะในการออกแบบก็สามารถทำได้ด้วยตัวเองเพราะเว็บสำเร็จรูปเหล่านี้จะมี Template ให้เลือก เพียงปรับนิดแต่งหน่อย ก็ทำให้เว็บไซต์ของคุณมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร และส่วนมาก ราคาเว็บไซต์ ก็มักจะมีให้เลือกเป็นแพ็กเกจ หรือเลือก Add-on ใช้เฉพาะฟังก์ชันที่ต้องการได้ด้วย
ข้อเสียของเว็บไซต์สำเร็จรูป ส่วนใหญ่จะเป็นข้อจำกัดในเรื่องของฟังก์ชั่นต่างๆ ที่อาจไม่ครบเครื่องตามความต้องการของผู้ใช้งานเท่าไหร่ แต่ก็มีแบรนด์ใหญ่ๆ หลายเจ้าที่ใช้เว็บไซต์สำเร็จรูปเหมือนกัน
ค่าใช้จ่ายทำเว็บ สำหรับทางเลือกนี้ก็จะมี
- ค่าแพ็กเกจรายปี
- ค่าออกแบบเว็บไซต์ (หากต้องการจ้างออกแบบ)
การทำเว็บไซต์ขึ้นมาหนึ่งเว็บจะเป็นเรื่องยากหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของเว็บว่าต้องการใช้งานเว็บไซต์ในจุดประสงค์อะไร ถ้าเป็นเว็บเฉพาะทาง หรือเกี่ยวข้องกับเรื่องการเงินแบบเดียวกับธนาคาร แบบนั้นอาจจะต้องว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาทำให้ หรือถ้าเป็นการทำเว็บ Information ให้ข้อมูลธุรกิจ หรือเว็บขายของออนไลน์ ถ้ามีความรู้เรื่อง Coding ก็เขียนเว็บได้ไม่ยาก หรือจะมาใช้เว็บสำเร็จรูปที่มีฟังก์ชันพร้อมใช้งานทันทีเพื่อประหยัดงบก็ทำได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น สำรวจความต้องการของตัวเองให้แน่ชัดแล้วเลือกวิธีการให้เหมาะสมกับงบประมาณ คุณก็จะได้เว็บไซต์ดีๆ ของตนเองแล้วล่ะครับ