บทความทั้งหมด, เทคนิคการทำเว็บไซต์
บทความทั้งหมด, เทคนิคการทำเว็บไซต์

อยากมีเว็บไซต์ของตนเอง ต้องมีงบเท่าไร?

รูปแบบการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากพอสมควร เมื่อก่อนเราอาจสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ไม่ยาก เพียงแค่ทำการตลาดแบบ Offline เช่น เปิดหน้าร้าน, ทำ PR, หรือจัด Event ก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่เมื่อโลกหมุนเร็วขึ้น ทำให้เรากำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคดิจิทัลแบบเต็มตัวมากขึ้นเรื่อยๆ และนั้นก็ยิ่งทำให้โลกออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นหากผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็ก กลาง ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ ไม่เตรียมรับมือหรือปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับโลกออนไลน์ ธุรกิจของคุณก็อาจเสี่ยงที่จะต้องกล่าวคำอาลาก็เป็นได้

         “เว็บไซต์” จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญบนโลกออนไลน์ ที่ช่วยแก้ไขช่องว่างดังกล่าว และสามารถเข้ามาเชื่อมต่อธุรกิจของคุณเข้ากับโลกออนไลน์ได้อย่างแนบแน่น ทำให้ธุรกิจสามารถก้าวไปต่อได้อย่างไร้รอยต่อ แต่แน่นอนว่า “เว็บไซต์” ไม่ใช่เครื่องมือที่จะสามารถสร้างขึ้นให้ใช้งานได้แบบครบทุกฟังก์ชั่นทันที โดยไม่ต้องลงทุนใดๆ และถ้าหากไม่มีทรัพยากรด้านบุคคลด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ต้องใช้งบประมาณพอสมควร  แล้วการจะมีเว็บไซต์เป็นของตนเอง ต้องใช้งบเท่าไรละ? เพื่อไขข้อสงสัยในคำถามนี้ MakeWebEasy จะขอพาทุกคนไปถอดรหัสกันว่า การจะสร้างเว็บไซต์ให้ได้ซักเว็บ เพื่อใช้ทำธุรกิจ หรือใช้เป็นกิจกรรมส่วนตัวต้องจ่ายเงินเท่าไรกัน และทำได้อย่างไร

เริ่มต้นทำเว็บไซต์ ทำอย่างไร?

หากคุณต้องการที่จะเริ่มต้นมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เพื่อประกอบธุรกิจ, ขายของออนไลน์, แสดงผลงานส่วนตัว ฯลฯ ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด คุณมีทางเลือกสำหรับเริ่มต้นสร้างเว็บไซต์ด้วยกันทั้งหมด 4 ทางเลือกหลัก ดังนี้

  • สร้างเว็บไซต์ด้วยตนเอง (In house)
  • จ้างฟรีแลนซ์ | คนรู้จัก ทำเว็บไซต์
  • จ้างบริษัทรับทำโดยเฉพาะ
  • ใช้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูป

สร้างเว็บไซต์ด้วยตนเอง ลงทุนไม่มาก แต่เหนื่อย

การสร้างเว็บด้วยตัวเอง ถือว่าเป็นวิธีที่ใช้ต้นทุนต่ำที่สุดในบรรดาวิธีทั้งหมด เพราะขอเพียงแค่คุณมีความรู้ในการสร้างเว็บพอประมาณ ผสานเข้ากับความเข้าใจในแบรนด์ของตัวเอง ก็สามารถสร้างสรรค์เว็บไซต์ที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณได้แล้ว ส่วนจะใช้ต้นทุนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความสามารถของตัวคุณเอง หรือบุคลากรในองค์กรที่มีอยู่ และปัจจัยเพิ่มเติมเช่น ค่าบริการการจดโดเมนเว็บไซต์, การเช่าพื้นที่เซิฟเวอร์ เป็นต้น ดังนั้นถ้าหากเรามีปัจจัยเหล่านี้อยู่ และสามารถควบคุมได้ เรื่องต้นทุนในการทำเว็บไซต์ด้วยวิธีนี้ก็จะน้อยมาก เพราะจะใช้แค่แรง และความรู้เป็นส่วนมาก

  • ข้อดี : เหมาะสำหรับองค์กรหรือคน ที่มีความรู้ ความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ และยิ่งถ้ามีนักออกแบบเว็บไซต์ส่วนตัวด้วยแล้ว ก็ยิ่งช่วยให้องค์กรหรือตัวเราได้เว็บไซต์ ที่ตรงตามต้องการมากที่สุดได้
  • ข้อสังเกต : ใช้ระยะเวลานาน เน้นใช้แรงกาย และความคิด ความรู้เป็นส่วนมาก ทำให้อาจเสียโอกาสต่างๆ ในช่วงที่ต้องมานั่งทำเว็บไซต์ได้
  • ต้นทุนโดยประมาณ : 0 – 30,000 บาท

จ้างฟรีแลนซ์หรือคนรู้จัก ทำเว็บไซต์

การเลือกให้ “ฟรีแลนซ์” หรือคนรู้จัก ที่มีความสามารถในด้านการทำเว็บไซต์ มาดูแลโครงการทำเว็บไซต์ให้ กับองค์กร บริษัท หรือตัวเราเองก็เป็นอีกทางเลือก ที่หลายคนนิยมกัน เพราะเราไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแค่บอกความต้องการ และใส่เงินลงทุน (ค่าจ้าง) ลงไป โดยใช้มากแค่ไหน อยู่ที่ความสามารถในการดีลราคาของเรากับผู้รับทำ โดยเรทราคาการจ้างฟรีแลนซ์ทำเว็บไซต์ในปัจจุบันถ้าอ้างอิงจากเว็บไซต์ Fastwork ที่เป็นหนึ่งในเว็บจ้างงานฟรีแลนซ์ยอดนิยม ก็จะมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 10,000 – 70,000 บาท ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และรายละเอียดของงาน รวมถึงการต่อรองราคากันระหว่างสองฝ่าย

  • ข้อดี : สามารถเลือกจ้างฟรีแลนซ์ทำเว็บไซต์ได้ตามงบประมาณ หรือ จุดที่ต้องการได้ เพราะฟรีแลนซ์แต่ละคนจะมีความสามารถเฉพาะทางแตกต่างกันไปโดยเฉพาะ ทำให้เราเลือกจ้างตามจุดประสงค์หรือจุดที่ต้องการจะทำเว็บไซต์ ตามที่ต้องการได้
  • ข้อสังเกต : การจ้างฟรีแลนซ์ทำเว็บไซต์นั้น มีโอกาสเสี่ยงที่จะเจอกับฟรีแลนซ์ประเภท งานเผา หรือ ทิ้งงาน ได้ ดังนั้นเราอาจได้งานที่ไม่ได้คุณภาพ
  • ต้นทุนโดยประมาณ : 10,000 – 70,000 บาท

จ้างบริษัทรับทำเว็บไซต์โดยเฉพาะ

ในปัจจุบันเราสามารถล่นระยะเวลา ต้นทุน ขั้นตอน และแรงที่ต้องทุ่มในการทำเว็บไซต์ด้วยตนเองลงได้ ด้วยการหันมาใช้บริการบริษัทที่รับทำเว็บไซต์โดยเฉพาะ ซึ่งทำให้เราไม่ต้องมาเริ่มต้นจากการเขียนโค๊ด หรือนั่งออกแบบเว็บไซต์ให้ยุ่งยาก รวมทั้งไม่ต้องมาดีลงานกับฟรีแลนซ์ให้วุ่นวาย เพราะส่วนมากบริษัทรับทำเว็บไซต์ จะมีบริการแบบครบวงจรให้อยู่แล้ว เราเพียงบอกความต้องการ และชำระค่าบริการเท่านั้น นอกนั้นปล่อยให้ทางบริษัทเขาดำเนินการไปตามขั้นตอนจนเสร็จ

  • ข้อดี : ประหยัดทั้งเวลาและแรง เพราะปล่อยให้บริษัทดำเนินงานไปตามขั้นตอนจนเสร็จ ทำให้เรามีเวลาที่จะคิดต่อยอดธุรกิจ ในช่วงที่รอให้เว็บไซต์เสร็จ รวมทั้งยังอุ่นใจได้บางว่า จะไม่เกิดการยกเลิกงานกลางทาง ถึงแม้จะมีโอกาสเสี่ยง แต่มีน้อยกว่าการจ้างฟรีแลนซ์แน่นอน
  • ข้อสังเกต : ส่วนมากการดีลกับทางบริษัทจะใช้งบประมาณที่สูง เพราะทางบริษัทจะมีการบวกค่าความคิด แรงงาน เสียเวลา ต่างๆ เข้าไปด้วย
  • ต้นทุนโดยประมาณ : 50,000 บาท ขึ้นไป (ตามตกลง)

ใช้บริการจากผู้ให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูป

วิธีนี้เป็นการ Mix ระหว่างทางเลือก 1 กับ 3 เพราะการเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูป เราสามารถที่จะทำได้ด้วยตัวเราเองคนเดียว หรือจะเลือกให้ผู้ให้บริการเขาออกแบบจัดทำเว็บไซต์ให้จนเสร็จก็ได้เช่นกัน โดยตัวระบบของเว็บไซต์สำเร็จรูปจะถูกออกแบบมาให้ง่ายต่อการสร้างเว็บไซต์ เพียงแค่เลือกตั้งค่าไม่กี่ขั้นตอน (มี Guide ให้) ก็สามารถออนไลน์เว็บไซต์ของเราได้แล้ว รวมทั้งยังมี Template ให้เลือกปรับแต่งดีไซน์เว็บไซต์ให้เข้ากับธุรกิจของเราด้วย ทำให้ไม่ต้องมานั่งออกแบบให้เสียเวลา ซึ่งส่วนมากทางผู้ให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูปจะมีแพ็กเกจ Free ให้ผู้ที่สนใจลองเข้าไปใช้งานเปิดเว็บไซต์แบบไม่เสียเงินได้

แต่! แน่นอนว่าทุกอย่างก็ไม่ได้ฟรีไปซะหมด

เพราะหากต้องการฟังก์ชั่นการใช้งานที่มากขึ้น หรือต้องการมีชื่อเว็บไซต์ (Domain) เป็นของตนเอง ก็ต้องเสียเงินอุดหนุนสักหน่อย แต่เราก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ กลับมา 

 

  • ข้อดี : เป็นทางเลือกที่ค่อนข้างยืดหยุ่น เพราะเราสามารถเลือกที่จะทำเว็บไซต์ด้วยตัวเอง โดยมีระบบ ฟังก์ชั่นต่างๆ แบบสำเร็จรูปให้ใช้งาน หรือจะเลือกให้ทางผู้ให้บริการดำเนินการให้ก็ได้เช่นกัน
  • ข้อสังเกต : ถึงแม้จะสามารถเข้าไปเปิดใช้งานเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องเสียเงิน แต่หากเราต้องการความเป็นมืออาชีพ เราก็จำเป็นที่จะต้องเสียเงินเพิ่ม เพื่อซื้อโดเมน และเช่าพื้นที่เซิฟเวอร์ กับทางผู้ให้บริการ และการใช้งานเว็บไซต์ระยะยาว จะดีหรือไม่ดี ก็ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการ เพราะตัวระบบทั้งหมดจะอยู่กับผู้ให้บริการนั้นเอง
  • ต้นทุนโดยประมาณ :  3,000 –  80,000 บาท ( ขึ้นกับเงื่อนไขการใช้บริการ)

สรุป

จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันเราสามารถเป็นเจ้าของเว็บไซต์สักเว็บหนึ่งได้ไม่ยาก ซึ่งก็อยู่ที่การตัดสินใจของตัวเราเองว่าจะเลือกทางไหนให้เหมาะกับธุรกิจ หรือเหมาะกับความต้องการใช้งาน รวมไปถึงงบประมาณตั้งต้นที่เรามี เพราะแต่ละทางเลือกย่อมมีข้อดีและข้อเสียในตัวอยู่แล้ว สุดท้ายคงขึ้นอยู่กับตัวคุณผู้อ่านเองว่า จะเลือกอย่างไรให้ตอบโจทย์กับความต้องการ ความเหมาะสมกับธุรกิจ และงบประมาณที่มีอยู่ และอย่าลืมประเมินการใช้งานไปยังอนาคตด้วยว่า ถ้าหากธุรกิจของเราโต เราจะใช้บริการเว็บไซต์อย่างไรต่อไป