Marketing, Online Marketing
Marketing, Online Marketing

9 ข้อควรระวังเมื่อทำ Social Marketing!

Social Marketing ทำดีก็ปัง ทำพังก็เจ๊ง!

บนโลกของ Online Business ในทุกวันนี้ การทำเว็บไซต์เพื่อขายสินค้า หรือเป็นศูนย์กลางของข้อมูลทุกอย่างอาจไม่เพียงพอต่อการสร้าง Leads เพื่อให้ลูกค้าใหม่เข้ามาหาเรา ดังนั้น เจ้าของธุรกิจจึงต้องหันไปทำการตลาดผ่านทาง Social Media กันมากขึ้นเพื่อสร้างจุดสนใจให้กับผู้คนทั่วไป

แต่การทำการตลาดผ่านทาง Social Media ก็ใช่ว่าจะทำกันได้ง่ายๆ บางคนทำแล้วปัง บางคนทำแล้วร่วง ก็มีกรณีศึกษาให้เห็นกันอยู่มากมาย วันนี้เราจึงสรุปข้อควรระวังในการทำการตลาดผ่าน Social มาให้ทุกคนได้ศึกษากันเพื่อเป็นแนวทางป้องกัน จะต้องระวังอะไรบ้าง ไปดูกันเลยครับ

 

ผูกตัวเองติดกับ Facebook อย่างเดียว

แม้ว่า Facebook จะเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลที่เชื่อมต่อผู้คนทั่วโลกเข้าด้วยกัน และมีผู้ใช้จำนวนมาก แต่การใช้ Facebook เพียงอย่างเดียวนั้นถือว่าไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะบางครั้งกลุ่มลูกค้าของคุณอาจไม่ได้มีพฤติกรรมเล่น Facebook ก็ได้ ดังนั้นควรกระจาย Profile หรือแผนการตลาดของคุณไปยังโซเชียลมีเดียตัวอื่นๆ ด้วย ถ้าสงสัยว่าทำไมไม่ควรผูกตัวเองไว้กับโซเชียลอย่างเดียว ลองอ่านบทความดูนี้ครับ “ธุรกิจ SME ควรปรับตัวอย่างไร เมื่อการตลาดออนไลน์เริ่มทำยาก และต้นทุนแพงขึ้นเรื่อยๆ?”

 

ใช้ Social หลายตัวเกินไป

การกระจายธุรกิจของคุณไปอยู่ในโซเชียลหลายๆ แพลตฟอร์มนับเป็นเรื่องที่ดี แต่การใช้โซเชียลแทบทุกอันที่มี หรือใช้เยอะเกินไปมันจะทำให้เกิดผลเสียแทน ควรเลือกใช้เฉพาะโซเชียลที่คุณวิเคราะห์มาแล้วว่ากลุ่มลูกค้าคุณมีพฤติกรรมใช้งานมากที่สุดจะดีกว่า

 

โพสต์อะไรแบบไม่คิด

เชื่อว่าทุกคนที่อ่านบทความนี้น่าจะเคยเห็นคอนเทนต์บางอย่างในโซเชียลที่ทำให้เกิดความรู้สึกแบบ “เอิ่ม…” หรือรู้สึกว่าไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการอ่าน หรือการดูสิ่งเหล่านั้นเลย และทำให้รู้สึกว่าเพจที่โพสต์ดูไร้สาระมากๆ ซึ่งนั่นแหละคือผลพวงจากการโพสต์แบบไม่คิด นึกจะลงอะไรก็ลง ไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์มาก่อนว่า คอนเทนต์ตัวนี้ต้องการสื่อสารไปในรูปแบบไหน การใช้คำดูน่าเชื่อถือหรือไม่ ฯลฯ เพราะคอนเทนต์คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ลูกค้าเกิดความสนใจในตัวเรา ดังนั้น คิดก่อนโพสต์เยอะๆ

 

โต้ตอบแบบไม่เป็นมืออาชีพ

บางครั้งพฤติกรรมของผู้คนในโซเชียลมักแสดงออกด้วยความรุนแรง อย่างเช่น การเข้ามาด่าทอ, ใช้คำหยาบ หรือการ complain ต่างๆ ซึ่งเราก็ควรจะรับมือกับเรื่องพวกนี้อย่างเป็นมืออาชีพ ด้วยการตอบกลับอย่างสุภาพที่สุด เพื่อไม่ให้ธุรกิจเราเกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีด้วย

 

เป็นกันเองเกินไป

การสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าด้วยความเป็นกันเองนับเป็นเรื่องที่ดี และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูเข้าถึงง่ายด้วย แต่ถ้าเป็นกันเองเกินไปก็ไม่ดี โดยเฉพาะเรื่องการใช้คำพูด เพราะถ้าเป็นกันเองเกินไป จะทำให้แบรนด์ถูกมองในเชิงลบทันที ดังนั้น ควรเข้าถึงง่ายแต่ต้องมีระยะห่างด้วย

 

โพสต์คอนเทนต์แบบเดียวกันในทุกช่องทาง

Social Media แต่ละแพลตฟอร์มก็มีแนวทางในการทำคอนเทนต์ที่แตกต่างกันออกไป การโพสต์คอนเทนต์รูปแบบเดียวกันในทุกๆ โซเชียลที่ใช้งานอยู่ดูเป็นการกระทำที่ออกจะขี้เกียจไปหน่อย และอาจเป็นการรบกวนผู้ใช้ทางสายตาด้วย เพราะคอนเทนต์แบบเดิมของคุณจะปรากฏขึ้นในทุกช่องทางที่พวกเขาติดตามคุณอยู่ ดังนั้น ควรทำคอนเทนต์ให้เหมาะสมกับโซเชียลนั้นๆ ด้วย

 

ซ่อนคอมเมนต์

ถ้าลูกค้ามาคอมเมนต์ในเชิงลบ หรือเป็นการตำหนิติเตียน สิ่งแรกที่ควรทำคือ อย่าไปลบคอมเมนต์ เพราะนั่นเท่ากับการเอาปัญหาซุกไว้ใต้พรม และทำให้ภาพลักษณ์แบรนด์ดูเสียไปด้วย สิ่งที่ควรทำคือ ดูว่าคำติชมนั้นมีส่วนที่เป็นประโยชน์บ้างหรือไม่ ถ้ามีก็ควรนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการทำงานของเราให้ดีขึ้น และที่สำคัญ ต้องตอบกลับคอมเมนต์เหล่านี้ในรูปแบบที่ให้ลูกค้ารู้สึกว่าการ complain ของเขาก็เป็นประโยชน์สำหรับเราด้วย

 

โพสต์มีแต่ตัวหนังสือ ไม่มีรูป

รูปแบบของโพสต์ที่เข้าถึงคนส่วนมากได้มากที่สุดคือ โพสต์ที่เป็นรูปภาพ หรือมีรูปภาพเป็นส่วนประกอบ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ชอบ content ที่มีแต่ตัวหนังสืออย่างเดียว แต่ต้องมีสื่อประกอบที่ดึงดูดสายตาด้วย

 

ทำ Social Marketing ตามกระแส ซาแล้วก็ปล่อยไว้

การตลาดทาง Social Media นับเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกธุรกิจควรโฟกัสให้มาก เพราะถ้าทำได้ถูกทางแล้วจะทำให้ธุรกิจของคุณได้ประโยชน์อย่างมหาศาล แต่คุณก็จำเป็นต้องดูแลโปรไฟล์เหล่านี้ให้ดี ด้วยการทำคอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอ มีการอัปเดตอย่างต่อเนื่อง ถึงจะส่งผลดีมากที่สุด ถ้าคิดจะทำแล้วปล่อยทิ้งไว้ ไม่ได้ดูแลต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ธุรกิจของคุณไม่มีความน่าเชื่อถือในสายตาของผู้ใช้ก็เป็นได้