รู้จัก 9 อัลกอริทึม Google ที่คนทำเว็บต้องรู้!
อัลกอริทึม Google ถือเป็นสิ่งสำคัญที่คนทำเว็บทุกคนต้องรู้ เพราะผู้คนแทบทุกคนบนโลกใช้ Google เพื่อค้นหาข้อมูลเป็นหลัก เรียกว่า “ถ้าอยากรู้อะไรบนโลกนี้ Google มีคำตอบ!”
เชื่อว่าคนรุ่นใหม่แทบทุกคนมีความคุ้นเคยกับวลีข้างบนนี้อย่างแน่นอน เพราะ Google เป็น Search Engine อันดับหนึ่งที่มีคำตอบให้กับทุกๆ คำถามที่ผู้ใช้พิมพ์ถามเข้ามา โดย Google จะคัดเลือกเว็บไซต์ที่มีคำตอบ หรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ Keyword นั้นๆ มากที่สุดมาแสดงผล ถ้าเกี่ยวข้องมาก หรือมีคำตอบตรงกับคำค้นหามาก ก็จะแสดงผลในอันดับแรกๆ
ซึ่งระบบการค้นหาของ Google ไม่ได้มีความสำคัญกับตัวผู้ใช้อย่างเดียว แต่ยังสำคัญกับการทำธุรกิจอีกด้วย เพราะเว็บไซต์ที่แสดงผลในอันดับแรกๆ ของ Google จะมีจำนวนคลิกสูงกว่าอันดับอื่นๆ หรือหมายถึงการมีผู้เข้าชมจำนวนมาก จึงทำให้เกิดการแข่งขันรูปแบบหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า Search Engine Optimization หรือ SEO ที่เรารู้จักกัน
และแน่นอนว่าเมื่อมีการแข่งขันเกิดขึ้น หลายคนก็ทำตามกฎกติกาเพื่อขึ้นอันดับหนึ่งด้วยฝีมือ และศักยภาพของตัวเอง เราเรียกคนเหล่านี้ว่า “SEO สายขาว” แต่อีกหลายคนก็พยายามหาช่องโหว่ในระบบการจัดการผลลัพธ์ของ Google เพื่อขึ้นอันดับหนึ่งให้ได้โดยไม่ต้องทำอะไรเยอะแยะ เราเรียกคนที่หาช่องโหว่เหล่านี้ว่า “SEO สายมืด”
เมื่อ Google รู้ว่ามีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น และทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมต่อทั้งผู้ใช้ และผู้เผยแพร่เนื้อหา (ที่เป็นสายขาว) Google จึงได้พัฒนาระบบ อัลกอริทึม เพื่อใช้ตรวจสอบเนื้อหาของเว็บไซต์ทั้งหมดที่อยู่ในระบบการค้นหาว่าเว็บไซต์ไหนผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้บ้าง ซึ่ง อัลกอริทึม ที่ Google สร้างขึ้นมานั้นมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี และมีระบบใหม่ๆ ใช้งานอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกัน และตรวจสอบเนื้อหาทั้งหมดบนโลกเว็บไซต์
วันนี้เราเลยจะพามารู้จักกับ AI Algorithm ผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจตราชั้นยอดของ Google ว่า เจ้าพวก Bot เหล่านี้ ชอบอะไร และไม่ชอบอะไรกันบ้าง คนทำ SEO อย่างเราจะได้รู้ว่าอะไรทำได้ และอะไรควรเลี่ยง มาดูกันเลย!
ข้อมูล อัลกอริทึม Google ทั้งหมด
Panda
เจ้าหมีตัวนี้ถูกสร้างมาเพื่อลดอันดับของเว็บไซต์คุณภาพต่ำที่ไม่ได้เผยแพร่เนื้อหาอันเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าชม และเว็บไซต์ที่ไปก๊อปปี้เนื้อหาจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ มาใส่เป็นของตัวเอง ส่วนเว็บไหนที่ทำเนื้อหาดี ไม่ซ้ำ ไม่ก๊อป มีความทันสมัยตลอดเวลา หมีตัวนี้ก็จะให้รางวัลด้วยการส่งเว็บขึ้นไปอยู่อันดับต้นๆ
ใช้งานครั้งแรก : กุมภาพันธ์ 2011
หน้าที่ : ตรวจสอบการก๊อปปี้เนื้อหา และสแปมคีย์เวิร์ด
ทำยังไงให้ผ่าน : พยายามเขียนคอนเทนต์ขึ้นมาด้วยสำนวนของตนเอง อย่าก๊อปปี้เนื้อความ หรือเนื้อหาใดๆ มาจากแหล่งข้อมูลอื่น เพราะถ้าเจ้า Panda ตรวจเจอเข้า (ซึ่งเจอแน่ๆ) เว็บเราจะถูกตราหน้าเป็นพวกขี้ลอกแน่นอน ที่สำคัญคอนเทนต์นั้นๆ จะต้องเป็นประโยชน์แก่ผู้ชมด้วย
Penguin
หลังจากเปิดใช้งานเจ้าแพนด้ามาเพื่อตรวจสอบ On-Site Content บนหน้าเว็บแล้ว ต่อมา Google ก็ได้สร้าง “นกเพนกวิน” ขึ้นมาสำหรับการตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างลิงก์ หรือ Backlink บนเว็บไซต์ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่จะมีเพนกวินตัวนี้ พวก SEO สายมืดได้ทำการสร้าง Backlink จากเว็บไซต์คุณภาพต่ำขึ้นมาเยอะมาก เพื่อปั่นอันดับหน้าเว็บให้สูงขึ้น ทำให้ Google ต้องสร้าง อัลกอริทึม Penguin ตัวนี้มาควบคุมปัญหาดังกล่าว
ใช้งานครั้งแรก : เมษายน 2012
หน้าที่ : ตรวจสอบความสัมพันธ์ และคุณภาพของ Backlink
ทำยังไงให้ผ่าน : การใส่ Backlink ลงไปในคอนเทนต์เป็นเรื่องสำคัญ ต้องเช็คให้ดีว่า Backlink ที่นำมาใส่นั้นมีคุณภาพ, น่าเชื่อถือ และมีความเกี่ยวข้องกับคอนเทนต์ในหน้านั้นๆ ด้วย ถ้าใครใช้วิธีจ่ายเงินซื้อ Backlink หรือสแปม Backlink จากเว็บไซต์คุณภาพต่ำ ก็เตรียมตัวโดนคัดออกได้เลย
Pirate
นอกจาก Google จะเป็นผู้ตรวจตรา และควบคุมมาตรฐานของคอนเทนต์บนโลกเว็บไซต์แล้ว Google ยังเปรียบเสมือนตำรวจไซเบอร์ที่คอยหาผู้ร้ายตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะผู้ร้ายที่กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์คอนเทนต์ทุกประเภท ด้วยการสร้างอัลกอริธึมชื่อว่า “Pirate” หรือ “โจรสลัด” ขึ้นมา ซึ่งแม้ว่าชื่อจะเป็นโจรสลัด แต่เจ้าโจรสลัดรายนี้จะทำการล่าโจรสลัดรายอื่นที่ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ให้หมดไป ไม่ว่าจะเป็น เว็บดูทีวีออนไลน์ (ที่ไม่ใช่ Official), เว็บ Torrent หรือเว็บดูหนังฟรี ฯลฯ ซึ่งการจัดการของ Google คือ จะลดการแสดงผลของเว็บไซต์นั้นๆ ลงสูงถึง 98% เลยทีเดียว
ใช้งานครั้งแรก : สิงหาคม 2012
หน้าที่ : ตรวจสอบเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์
ทำยังไงให้ผ่าน : อย่าทำเว็บแบบนี้ตั้งแต่แรก เพราะมันไม่ดีเลย!
Hummingbird
อัลกอริทึม Hummingbird ตัวนี้ไม่ได้ใช้หาคนร้าย แต่สร้างมาเพื่อให้คาดเดากลุ่มคียเวิร์ดที่ผู้ใช้ต้องการค้นหาล่วงหน้า เรียกง่ายๆ ก็คือ นกฮัมมิงเบิร์ดตัวนี้จะเป็น “นกวิเศษ” ที่มองเห็นคำตอบล่วงหน้าได้ว่า ผู้ใช้จะพิมพ์ว่าอะไร
ใช้งานครั้งแรก : สิงหาคม 2013
หน้าที่ : ค้นหาคีย์เวิร์ดที่ต้องการแบบล่วงหน้า
Pigeon
พิราบน้อยตัวนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการค้นหาเช่นเดียวกับ Hummingbird ด้านบน โดยเจ้าพิราบตัวนี้ทำหน้าที่จัดอันดับผลการค้นหาตาม Location ของผู้ Search ซึ่งอิงตามหลักเกณฑ์เดียวกันกับการจัดอันดับเว็บไซต์แบบ SEO
หากใช้คำอธิบายอย่างเดียวคงไม่เห็นภาพ เราขอยกตัวอย่างมาสักหนึ่งเคส เช่น ร้านอาหารในละแวกการค้นหาที่ Google จะนำมาแสดงเป็นอันดับแรกๆ จะต้องมีการลงข้อมูลกับ Google My Business, ระบุตำแหน่งที่ตั้งของร้านให้ถูกต้อง และแม่นยำที่สุด, การตั้งชื่อ Title และประเภทธุรกิจต้องครบ และสัมพันธ์กับพื้นที่ หรือเมือง ณ จุดนั้น, ควรมีเว็บไซต์เพื่อให้ผู้เสิร์ชทราบข้อมูลของร้านมากยิ่งขึ้น และเว็บไซต์นั้นควรมี Domain Name น่าเชื่อถือด้วย ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้ถ้าร้านนั้นมีครบ Google ก็จะนำร้านนั้นไปแสดงให้ผู้ค้นหาเห็นได้ในลำดับต้นๆ
ใช้งานครั้งแรก : กรกฎาคม 2014
หน้าที่ : จัดอันดับผลการค้นดีที่สุดตาม Location
Mobile Friendly Update
หลังจากที่สมาร์ทโฟนกลายเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน การทำกิจกรรมในโลกออนไลน์กว่า 90% เกิดขึ้นบนมือถือทั้งหมด เช่นเดียวกับการค้นหาสิ่งต่างๆ ผ่าน Google บนมือถือ ทำให้ Google ต้องเพิ่มอัลกอริธึมการจัดอันดับเว็บไซต์ที่แสดงผลบนมือถือได้ดี หรือที่เรียกว่าเป็น Mobile Responsive มาอีกหนึ่งตัว โดยอัลกอริธึมตัวนี้จะเพิ่มอันดับให้เว็บไซต์ที่เป็น Responsive และลดอันดับเว็บที่ไม่เป็น Responsive ลง เพราะถือว่าไม่มีความสะดวกแก่ผู้ใช้
ใช้งานครั้งแรก : เมษายน 2015
หน้าที่ : เพิ่มอันดับให้เว็บไซต์ที่เป็น Responsive และลดอันดับเว็บไซต์ที่ไม่เป็น Responsive
ทำยังไงให้ผ่าน : ทำเว็บไซต์ของตนเองให้เป็นแบบ Responsive ก็จะช่วยให้อันดับ SEO ขึ้นได้
RankBrain
RankBrain เป็น AI ที่ช่วยในเรื่องการค้นหาความหมายของคำ หรือกลุ่มคำที่ใช้ค้นหา เพื่อคัดกรองเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาตรงตามที่ต้องการมากที่สุด โดยอิงจากความเกี่ยวข้องกันระหว่างคอนเทนต์บนหน้าเพจ และคำค้นหา ซึ่งหมายความว่า RankBrain จะวัดผลลัพธ์จากคอนเทนต์ว่าเว็บไหนดีไม่ดีอย่างไรแล้วเลือกไปแสดงผล และที่สำคัญคือ RankBrain สามารถเรียนรู้ และพัฒนาประสิทธิภาพในการคัดกรองนี้ได้ตลอดเวลา เนื่องจาก RankBrain เป็น Machine Learning นั่นเอง
ใช้งานครั้งแรก : ตุลาคม 2015
หน้าที่ : คัดกรองผลลัพธ์ให้ตรงตามคำค้นหา
Possum
อัลกอริธึมตัวนี้ไม่ได้ส่งผลอะไรกับผู้ใช้มากนัก เพราะ Possum ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจัดเรียง และแสดงข้อมูลในบริเวณของผู้ค้นหาเท่านั้น เช่น ถ้าสมมติคุณเสิร์ชว่า “ร้านอาหาร” Google ก็จะดึงข้อมูลมาจาก Google My Business ว่ามีร้านใดอยู่ใกล้เคียง และน่าจะตรงความต้องการของคุณบ้าง นี่แหละคือหน้าที่ของ Possum
ใช้งานครั้งแรก : กันยายน 2016
หน้าที่ : คัดกรอง และแสดงผลการค้นหาในบริเวณของผู้ Search
Fred
Fred เป็น อัลกอริทึม Google ตัวล่าสุดที่เปิดใช้งาน โดย Fred มีหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานของเว็บไซต์ทั้งหมด โดยเฉพาะในเรื่องของคอนเทนต์ที่ไร้คุณภาพ, เว็บไซต์ที่แสดง Ads หรือมี Affiliate Link เยอะเกินไป ซึ่ง Fred จะมองว่าถ้าสิ่งเหล่านี้มากเกินไปก็จะไม่เกิดประโยชน์กับผู้ใช้ และจัดการลดอันดับเว็บนั้นๆ ทันที
ใช้งานครั้งแรก : มีนาคม 2017
หน้าที่ : ตรวจสอบ และลดอันดับเว็บไซต์ที่คอนเทนต์ไร้คุณภาพ หรือสแปม Ads
ทำยังไงให้ผ่าน : เขียนคอนเทนต์ที่มี Value หรือเกิดประโยชน์กับผู้อ่านจริงๆ และอย่ายัดเยียดการขายของมากจนเกินไป
จะเห็นได้ว่ากฎเกณฑ์แทบทุกอย่างที่ Google ตั้งขึ้นมานั้นเกี่ยวข้องกับคอนเทนต์ที่ต้องมีประโยชน์ต่อผู้อ่านจริงๆ แม้ว่าคนที่ต้องการทำ SEO สายขาวแต่ทำคอนเทนต์ไม่มีประโยชน์ หรือไม่เกิด Value ต่อผู้อ่าน ก็ไม่ทำให้อันดับ SEO ขยับขึ้นอยู่ดี รวมไปถึงการตั้งค่าต่างๆ ที่เป็น Text ใน Title + Description เพื่อให้ Bot ของ Google อ่านได้ว่ามีคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาหรือไม่ รวมไปถึงเทคนิคเชิงลึกต่างๆ อีกมากมายที่สามารถนำมาปรับใช้ได้อีก หากใครสนใจเพิ่มเติม ติดตามจากบทความด้านล่างนี้ได้ครับ
- ดีไซน์หน้าเว็บแบบไหนที่ส่งผลเสียต่อ SEO?
- ส่องเทคนิคการใช้ SOCIAL เพิ่มอันดับ SEO ให้สูงขึ้น!
- พื้นฐาน SEO ที่ดี เริ่มต้นที่ “KEYWORD”
- OUTBOUND LINK ช่วยในเรื่องของ SEO ได้ยังไง?
- INTERNAL LINK อีกหนึ่งปัจจัย ที่ช่วยให้เว็บไซต์ติดอันดับบน GOOGLE
Source
https://www.link-assistant.com/news/google-algorithm-updates.html
https://www.trafficradius.com.au/google-algorithm-updates/
https://www.kunocreative.com/blog/google-algorithm-updates-2019