3 คำถามที่ช่วยยืนยันความเข้าใจใน Google Analytic
หลายๆ ครั้งที่ผมลองถามคำถามกับคนที่ทำ Google Analytics มาแล้วระยะหนึ่ง พบว่าเกือบทั้งหมดตอบคำถามพื้นฐานที่จำเป็นต้องรู้ไม่ได้ ซึ่งทำให้ผมเชื่อว่าการอ่านรีพอร์ทนั้นเป็นการอ่านรีพอร์ทระดับพื้นผิว และวิเคราะห์หาคำตอบที่ต้องใช้ความเข้าใจพื้นฐานสำคัญในการวิเคราะห์ไม่ได้ ซึ่งปัญหานี้จะกลายเป็นอุปสรรคในการศึกษาต่อไปในอีกขั้นหนึ่ง ที่สำคัญคือถ้าคิดว่าเข้าใจดีแล้วอาจจะทำให้ความกระหายในการศึกษาต่อลดลงไปอย่างมาก สิ่งที่ MakeWebEasy พบอีกอย่างคือ มีบางท่านที่สอบถามเข้ามาเรื่องคอร์สการสอน Google Analytics ระดับ Advance โดยบอกว่าเข้าใจระดับพื้นฐานแล้วเคยใช้งานมาปีกว่า อยากจะเรียนระดับ Advance เลย ซึ่งเมื่อผมพบเหตุการณ์ลักษณะนี้ เรามักจะถามคำถามเบสิค 3 ข้อเพื่อวัดความเข้าใจระดับพื้นฐานว่าเข้าใจจริงหรือไม่ ปรากฏว่าที่ผ่านมาไม่มีใครตอบถูกต้องแบบเคลียร์ๆ ได้เลย MakeWebEasy ก็เลยแนะนำให้เรียนระดับพื้นฐานก่อน ดังนั้นหากใครที่คิดว่าเข้าใจพื้นฐาน Google Analytics ดีในระดับหนึ่งแล้ว ลองมาตอบคำถามพื้นฐาน 3 คำถามนี้กันครับ ถ้าตอบได้หมดแสดงว่าเข้าใจพื้นฐานดีพอสมควร แต่หากตอบไม่ถูกเลยแสดงว่าคุณยังต้องศึกษาพื้นฐานเพิ่มเติมให้มากขึ้นหากต้องการศึกษาด้านนี้จริงๆ
คำถามที่ 1 : หนึ่ง session มีเวลา (duration) เท่าไร?
คำถามที่ 2 : ในหนึ่ง property ควรมี view อย่างน้อยที่สุดกี่ view?
คำถามที่ 3 : Real-time report มีประโยชน์อย่างไร นอกจากข้อมูลเรียลไทม์ที่อัพเดททุกวินาที?
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับคนที่ยังตอบไม่ถูก มาดูคำตอบกันนะครับ
คำตอบข้อ 1 : คือ มีเวลาเท่าไรก็ได้ครับ แต่จะ session จะหมดอายุเมื่อไม่มีการกระทำใดๆ บนหน้าเว็บเป็นเวลา 30 นาที (การ scroll เมาส์ไม่นับนะครับ) เมื่อ session หมดอายุลง เวลาของ session ก็จะหมดลงเช่นกัน ตามทฤษฎีแล้ว เวลาสูงสุดจะไม่เกิน 24 ชม อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์นี้ UIP, Session (Visit), User (Visitor) แตกต่างกันอย่างไร
คำตอบข้อ 2 : ในหนึ่ง property ควรจะต้องมี view อย่างน้อย 3 views ครับ อ่านรายละเอียดที่ลิงค์นี้ครับ โครงสร้างของ Google Analytics Account
คำตอบข้อ 3 : Real-time report นอกจากใช้ดูข้อมูลเรียลไทม์แล้ว ประโยชน์ที่ดีมากแต่ไม่ค่อยมีคนใช้งานเลยคือใช้วัดว่า code javascript ของ Google Analytics ที่เพิ่งจะติดตั้งไปนั้นทำงานได้ปกติหรือไม่ ซึ่งยังสามารถนำไป apply ใช้กับการตรวจสอบการทำงานของ UTM tagging หรือ Event tracking ได้ด้วย
การจะเอาจริงเอาจังในการเล่นดนตรี แค่ร้องเล่นได้ดียังไม่เพียงพอ การเรียนรู้เรื่องตัวโน้ตเป็นสิ่งจำเป็น เช่นเดียวกัน การศึกษาเรื่อง Google Analytics ควรจะต้องเข้าใจพื้นฐานให้ถ่องแท้ เพราะจะทำให้การอ่านรีพอร์ทหรือศึกษาต่อทำได้ง่ายขึ้น รู้จักที่มาที่ไปของข้อมูล วิเคราะห์หาเหตุผลของตัวเลขที่อาจจะคลาดเคลื่อนกันในแต่ละรีพอร์ทได้ และที่สำคัญคือ ตอบคำถามได้ชัดเจน ไม่อึกอัก เมื่อถูกลูกค้าหรือหัวหน้างานตรวจสอบตั้งคำถามกับตัวเลขในรีพอร์ท เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว คุณจะดูหมดความน่าเชื่อถือไปในทันที
บทความจาก: https://googleanalyticsthailand.wordpress.com/2015/06/28/3-google-analytics-basic-questions/